เมนู

รู้จักเรา

สุขภาวะของพระสงฆ์เป็นประเด็นที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติให้ความสำคัญและมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 มติ 7 พ.ศ. 2555 เรื่อง พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะซึ่งนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกัน พัฒนาเป็นธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ในช่วงแห่งความตื่นตัวในเรื่องนี้ โครงการสงฆ์ไทยไกลโรคภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554 โดยการริเริ่มจากนายแพทย์ชาญวิทย์ วสันตธนารัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. ในขณะนั้น และคุณมาณี สื่อทรงธรรม อดีตผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ด้วยความร่วมมือของคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ส.ค. 2554 - มี.ค. 2564) และคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา (ตั้งแต่ ก.ค. 2564) โครงการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสุขภาวะพระสงฆ์ในประเด็นของปัญหาโภชนาการเกินในพระสงฆ์ ที่จริงเรื่องปัญหาโภชนาการเกินเป็นประเด็นสุขภาพของประชาชนทั่วไประดับประเทศ และระดับโลกเลยทีเดียว แต่มีคนจำนวนน้อยที่ตระหนักว่าปัญหานี้เกิดในพระสงฆ์และสามเณรด้วยเช่นกัน (ที่จริงก็พบว่าเกิดมากกว่าประชาชนทั่วไปด้วย) การแก้ไขเพื่อลดโรคอ้วน น้ำหนักเกิน และปรับการบริโภคอาหารให้ช่วยสร้างเสริมสุขภาพนั้น สำหรับประชาชนทั่วไปยังทำได้ยากลำบาก ไม่ว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ตลอดจนประเทศไทยซึ่งมีระบบสาธารณสุขที่ดีมากประเทศหนึ่ง ดังนั้น การแก้ปัญหาโภชนาการในหมู่พระสงฆ์และสามเณรก็ยิ่งยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีก เนื่องจากพระสงฆ์และสามเณรเป็นผู้รับถวายอาหาร จึงต้องเพิ่มมิติในการแก้ปัญหากว้างขวางกว่าการแก้ปัญหาในประชาชนทั่วไป คือ ต้องตามไปยังผู้ถวายอาหารหรือผู้ปรุงหรือผู้ค้าอาหารตลอดจนปัจจัยแวดล้อม เช่น การผลักดันจากมหาเถรสมาคมด้วย โครงการสงฆ์ไทยไกลโรคจึงได้ดำเนินการวิจัยภาวะโภชนาการในพระสงฆ์และสามเณร เพื่อให้ได้องค์ความรู้ของปัญหาและปัจจัยที่สัมพันธ์กับปัญหาโภชนาการที่พบ นำมาพัฒนาสื่อเพื่อสร้างเสริมพฤติกรรมทางโภชนาการที่ดี ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในพระสงฆ์และสามเณร กระบวนการพัฒนาสื่อโภชนาการพระสงฆ์และสามเณรใช้เวลาประมาณ 12 ปี โดยตั้งอยู่บนองค์ความรู้จากการวิจัย มีการวิจัยประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความพึงพอใจของสื่อที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้เป็นสื่อที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางอย่างแท้จริง โครงการจึงประสงค์จะนำสื่อโภชนาการเพื่อสุขภาพพระสงฆ์และสามเณร องค์ความรู้ ภาคีที่ร่วมกันดำเนินภารกิจนี้ และประสบการณ์ระหว่างทาง ที่ทรงคุณค่า น่าศึกษาไม่แพ้ผลลัพธ์ที่ได้มา มาให้เรียนรู้ร่วมกันในเว็บไซต์นี้

สื่อสำหรับพระสงฆ์ มีชื่อว่า สื่อสงฆ์ไทยไกลโรค 4.0ได้รับการพัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพและประสิทธิผล ผ่านการวิจัยจากโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค (พ.ศ. 2554 – 2562) ประกอบด้วย 1) สื่อสำหรับพระสงฆ์ จำนวน 4 ชิ้น เพื่อให้พระสงฆ์พิจารณาฉันอาหาร ปานะ อย่างเหมาะสม และมีสื่อช่วยบันทึกการออกกำลังกายอย่างง่าย 2) สื่อสำหรับฆราวาส ผู้ค้าและผู้ปรุงอาหารถวายพระสงฆ์ จำนวน 5 ชิ้น เพื่อให้สามารถจัดโภชนาหาร และปานะอย่างเหมาะสมถวายพระสงฆ์ ทั้งนี้เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ทั้งพระสงฆ์และฆราวาส ให้มีประสิทธิภาพ โดยที่ไม่ปล่อยให้พระสงฆ์ แก้ไขปัญหาแต่เพียงฝ่ายเดียว

สื่อสำหรับสามเณร มีชื่อว่า เณรกล้า โภชนาดี มีทั้งรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน และ หลักสูตร เณรกล้า โภชนาดี ที่ใช้เสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน เว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้า โภชนาดีได้รับการพัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพและประสิทธิผล ผ่านการวิจัยจากโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค (พ.ศ. 2557 – 2565) เป็นสื่อสร้างเสริมพัฒนาการด้านโภชนาการสำหรับสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แบบ Interactive web-based program เป็นกิจกรรมเสริมการเรียนรู้วิชาสุขศึกษานอกห้องเรียน ผ่านทางการกำกับดูแลของพระอาจารย์หรือครูผู้สอนนำไปให้สามเณรในระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 เป็นกึ่งเกมการแข่งขัน ระดับห้องเรียน ระดับชั้น หรือ ระดับโรงเรียน ในรูปแบบและการใช้งานที่สะดวกกับพระอาจารย์และสามเณร โดยมีสื่อให้ ความรู้ แรงบันดาลใจ ตัวช่วย และระบุเป้าหมายชัดเจนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการดื่มนมวัว น้ำหวาน การฉันผัก และการออกกำลังกาย ส่วนหลักสูตร เณรกล้า โภชนาดี จะเสริมสร้างความรู้โภชนาการให้กับสามเณร ในการพิจารณาฉันและออกกำลังกายโดยแบ่งเป็นรายวิชาย่อยและมีข้อสอบท้ายบทให้ด้วย

คลิปสั้น คลิปวิดีโอชุดความรู้เพื่อสื่อสารสุขภาพ มีจุดมุ่งหมายในการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการทำงานของโครงการมาสังเคราะห์และจัดระบบองค์ความรู้ รวมทั้งขยายผลต่อยอดเป็นชุดความรู้เพื่อสื่อสารสุขภาพแด่พระสงฆ์ ฆราวาส และบุคลากรสาธารณสุข ตามแนวทางการใช้สื่อในการสื่อสารเพื่อส่งเสริมสุขภาพ โดยมีกรอบเนื้อหา ได้แก่ การดูแลสุขภาพตามหลัก โภชนา ปานะ กายะ กิจกรรม ใส่ใจใส่บาตร ครัวต้นแบบ การจัดการสิ่งแวดล้อม และแนวทางการอุปัฏฐากพระสงฆ์ คลิปวิดีโอชุดความรู้เพื่อสื่อสารสุขภาพแด่พระสงฆ์ดังกล่าวได้รับการออกแบบให้สื่อสารด้วยเนื้อหาที่กระชับ เข้าใจง่าย และสามารถนำไปปฏิบัติได้เพื่อประโยชน์ในการดูแลส่งเสริมสุขภาพแด่ทั้งพระสงฆ์ สามเณร และฆราวาส

สื่อสงฆ์ไทยไกลโรค 4.0 สื่อเว็บแอปพลิเคชันและหลักสูตร เณรกล้า โภชนาดี และ คลิปสั้น หนังสือ สื่ออื่นๆของโครงการ รวมทั้ง แนวทางการพัฒนาครัวต้นแบบของสถาบันสงฆ์และวัดต่างๆ เป็นสิ่งที่ทุกท่านสามารถดาวน์โหลดและนำไปใช้เพี่อสร้างเสริมภาวะโภชนาการที่ดีของพระสงฆ์และสามเณรได้

โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค ดำเนินการมา 6 โครงการ เป็นเวลากว่า 10 ปี มีภาคี 34 ภาคี ที่สำคัญที่ร่วมดำเนินการกับโครงการ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้นแบบ 1 คน พยาบาลต้นแบบ 5 คน นักโภชนาการต้นแบบ 3 คน นักสาธารณสุขต้นแบบ 1 คน พระสงฆ์ต้นแบบ 7 รูป วัดต้นแบบ 7 แห่ง โรงพยาบาลต้นแบบ 6 แห่ง กลุ่มงานพยาบาลชุมชนต้นแบบ 1 แห่ง และครัวต้นแบบ 3 แห่ง นับเป็นมรดกล้ำค่า เป็นเพื่อนบุญ เกื้อหนุนสุขภาวะพระสงฆ์และสามเณรอย่างยั่งยืน ซึ่งติดตามได้ใน เรื่องเล่าสุขภาวะ

ขอขอบพระคุณ สสส. และภาคีทั้งหมดนี้ ที่สร้างผลลัพธ์และประสบการณ์ที่ดีควรค่าแก่การเรียนรู้ ในการสร้างเสริมสุขภาพแก่พระสงฆ์และสามเณร

ศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช
หัวหน้าโครงการ
Contributor

ศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช

หัวหน้าโครงการ คณะสหเวชศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพยเนตร อริยปิติพันธ์

รองหัวหน้าโครงการ และหัวหน้าภาควิชาโภชนาการและ การกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นางมาณี สื่อทรงธรรม

อดีตผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร.อ.หญิง ดร.วาสินี วิเศษฤทธิ์

รองคณบดี คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิตินัน บ. คอมมอน

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นางจิรัฐิติกาล ดวงสา

หัวหน้าฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์

ติดต่อเรา

ที่ตั้งโครงการ
โครงการการพัฒนาสื่อและหลักสูตรโภชนาการ สามเณรสมวัยและการขับเคลื่อนสุขภาวะพระสงฆ์ และสามเณรโดยภาคีร่วมโดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ ชั้น 1 อาคารมหาเจษฎาบดินทร์ วัดยานนาวา 40 ถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120
นโยบายคุกกี้
ช่องทางติดตาม
© สงวนลิขสิทธิ์ 2022